ไม่กินหวาน ทำไมเป็นเบาหวานได้อีก?

Last updated: 13 มี.ค. 2567  | 

ไม่กินหวาน ทำไมเป็นเบาหวานได้อีก?

ผู้เขียน ภญ.ผศ.ดร.อาภา เพชรสัมฤทธิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

                    หลายท่านอาจเคยสงสัยว่า ไม่กินหวานแล้วนะ ทำไมยังเป็นเบาหวานได้อีก? แท้จริงแล้วการกินหวานเป็นสาเหตุของเบาหวานจริงหรือ?

ทำความรู้จักกับโรคเบาหวาน
                    โรคเบาหวานเกิดจากตับอ่อนทำงานผิดปกติไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ เมื่อรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นพลังงานในรูปของน้ำตาลกลูโคส โดยอินซูลินจะเก็บน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งหากมีอินซูลินไม่เพียงพอจะทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (รูปที่ 1) และถูกขับออกมาในปัสสาวะ ผู้ป่วยจึงมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

สาเหตุของการไม่กินหวาน แต่ก็ยังเป็นเบาหวาน
                    หากเราสามารถเลี่ยงไม่กินหวานได้แล้วก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในกรณีต่อไปนี้ (1)

  1. อายุ 40 ปีขึ้นไป
  2. เพศชาย เนื่องจากเพศชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
  3. ดัชนีมวลกาย 23 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป
  4. รอบเอว เพศชาย 90 ซม. ขึ้นไป เพศหญิง 80 ซม.ขึ้นไป
  5. มีโรคความดันโลหิตสูง
  6. ประวัติโรคเบาหวานในญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง)

                    อย่างไรก็ตามอาหารหวานนั้นเป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงเท่านั้น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีปริมาณเพียงพอ เช่น ทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หวานน้อย คอเลสเตอรอลต่ำ มีเส้นใยสูง เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หมั่นตรวจเช็คความดันโลหิตและควรประเมินความเสี่ยงซ้ำสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายในเบื้องต้น

มื้อเช้าง่าย ๆ ที่ต้องใส่ใจ
                    อย่างที่ทราบกันดีว่าการทำงานที่เร่งรีบในแต่ละวันอาจทำให้การเลือกอาหารมื้อเช้านั้นทำได้ยาก หลายท่านอาจเลือกเป็นอาหารที่หาซื้อง่ายและทานได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นหมูปิ้ง/หมูทอด/ไก่ทอด พร้อมด้วยข้าวเหนียวซักห่อ หรือข้าวกล่องจากร้านสะดวกชื้อ ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีไขมันสูงและมีรสเค็มจัด นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาพบว่าการขาดมื้อเช้าสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (2) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด) มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไปและมีประวัติพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ในครอบครัว จะดีหรือไม่ หากลองปรับเปลี่ยนโดยการเริ่มต้นวันใหม่ด้วย เครื่องดื่มธัญพืช ทำให้มื้อเช้าของการทำงานที่แสนจะเร่งรีบนั้นง่ายขึ้นและยังอิ่มท้องได้ความหอมอร่อย พร้อมคุณค่าทางอาหารอีกด้วย

 

เกร็ดความรู้ เบาหวานมีกี่ชนิด
                    หากแบ่งตามสาเหตุการเกิดโรค จะแบ่งโรคเบาหวานได้เป็น 4 ชนิด (1, 3, 4) คือ

  1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อย เกิดจากการทำลายเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อนจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T2DM) ชนิดที่พบมากที่สุด  มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไปและมีประวัติพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ในครอบครัว เกิดจากการมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ร่วมกับความบกพร่องในการผลิตอินซูลิน
  3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) ตรวจพบได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ซึ่งมักหายไปหลังการคลอด
  4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) เช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือจากยา เป็นต้น


  สั่งซื้อสินค้า คลิกเลย


 

เอกสารอ้างอิง

  1. American Diabetes Association Professional Practice C. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Medical Care in Diabetes—2022. Diabetes Care. 2021;45(Supplement_1):S17-S38.
  2. Ballon A, Neuenschwander M, Schlesinger S. Breakfast Skipping Is Associated with Increased Risk of Type 2 Diabetes among Adults: A Systematic Review and Meta-Analysis of Prospective Cohort Studies. The Journal of Nutrition. 2019;149(1):106-13.
  3. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. พิมพ์ครั้งที่ 3. ปทุมธานี: ร่มเย็น มีเดีย; 2560.
  4. สารัช สุนทรโยธิน, ธิติ สนับบุญ. กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ใน: สารัช สุนทรโยธิน, ปฏิณัฐ บูรณะทรัพย์ขจร บรรณาธิการ. ตำราโรคเบาหวาน 2554. พิมพ์ครั้งที่ 1. หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 26-38.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้